วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2556

นักการเมือง

     นักการเมือง(politician) (ภาษากรีก "polis")

     
นักการเมืองหรือผู้ปฏิบัติงานทางการเมือง คือ บุคคลผู้อาสาเข้าทำงานเพื่อรับใช้ประชาชนและประเทศชาติในด้านกิจกรรมทางการเมือง เพื่อยังความยุติธรรมและสันติให้แก่สังคมและพิทักษ์ผลประโยชน์พร้อมกับยังความสมบูรณ์พูลสุขให้แก่ประชาชนด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยยึดอุดมคติว่า "เสียสละผลประโยชน์ส่วนตัว เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม"  และ  "เหนือสิ่งอื่นใดคือชาติและเหนือชาติคือมนุษยชาติ" ซึ่งรวมถึงตำแหน่งรัฐมนตรี,สมาชิกรัฐสภาที่ได้อำราจมาจาก การเลือกตั้ง รัฐประหาร การเลือกตั้งฉ้อโกง หรือวิธีการอื่นๆ
       
     นักการเมืองที่ดีควรมีคุณสมบัติ 5 ประการดังต่อไปนี้
     
     ประการแรก  นักการเมืองผู้นั้นต้องมีความผูกพันทางอุดมการณ์ (Ideological Commitment) โดยในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นจะต้องมีความเชื่อและศรัทธาในระบบประชาธิปไตย มีจิตวิญญาณประชาธิปไตย และต้องเข้าใจว่าประชาธิปไตยนั้นเป็นกรรมวิธี (means) เพื่อจุดมุ่งหมายบางอย่าง และขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่มีเป้าหมายบั้นปลาย (end) ที่มีคุณค่าในตัวของมันเองนักการเมืองที่ดีจึงเป็นนักการเมืองที่ปฏิบัติตามกรอบกติกาเพื่อรักษาไว้ซึ่งกระบวนการประชาธิปไตย โดยไม่ตะแบงละเมิด
     
     ประการที่สอง  นักการเมืองที่ดีจะต้องมีจริยธรรมทางการเมือง (Political Ethics) ในขณะที่อุดมการณ์ทางการเมืองมักจะรวมจริยธรรมอยู่ด้วยแต่จริยธรรมทางการเมืองอาจจะเป็นรายละ เอียดที่อยู่นอกกรอบอุดมการณ์ทางการเมืองซึ่งเป็นกรอบใหญ่ประเด็นเรื่องจริยธรรมทางการเมืองจะ เกี่ยวข้องกับความถูกต้องตามกฎหมาย ความชอบธรรมทางการเมือง และความน่าเชื่อถือรวมทั้งศรัทธา การกระทำอันใดก็ตามถึงแม้จะถูกต้องตามกฎหมายจะต้องพยายามหลีกเลี่ยงถ้าเกิดผลเสียตามมา จริยธรรมทางการเมืองจะเป็นเครื่องชี้แนวทางในการปฏิบัติ ในขณะที่อุดมการณ์ทางการเมืองจะทำ หน้าที่เสมือนจิตวิญญาณของระบบการเมืองในภาพรวม 
     
      ประการที่สาม  นักการเมืองที่ประสบความสำเร็จในฐานะนักการเมืองที่ทำประโยชน์ต่อประเทศชาติ และสังคม ไม่ว่าจะในฐานะสมาชิกรัฐสภาหรือรัฐมนตรีจะต้องมีความรู้ทางการเมือง(Political Knowledge) ซึ่งความรู้ดังกล่าวนี้คือความรู้ทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม มีวิชาหนึ่งวิชาที่เริ่มต้น ในอังกฤษเป็นที่ทราบกันว่าเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาการเมือง ความรู้เกี่ยวกับการเมือง และ เศรษฐศาสตร์  หรือที่เรียกว่า PPE (Philosophy, Politics and Economics) วิชาดังกล่าวนี้ มีแนวคิดที่ว่า การบริหารประเทศนั้นจะต้องกระทำโดยบุคคลที่มีความรู้ทางการเมือง อันรวมถึงความรู้ ทางสังคมด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องมีความรู้เรื่องเศรษฐกิจและธุรกิจ ทั้งเศรษฐกิจภายในประเทศและ ระหว่างประเทศ แต่ที่สำคัญจำเป็นต้องมีความรู้เรื่องปรัชญาทางการเมือง ซึ่งปรัชญาทางการเมือง นั้นจะรวมทั้งอุดมการณ์และจริยธรรมเพื่อเป็นเครื่องชี้นำในการปฏิบัติ นักการเมืองที่มีความรู้ครึ่งๆกลางๆ จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เกิดการตัดสินใจผิดพลาดเนื่องจากขาดข้อมูลและความรู้ที่ สำคัญขาดอุดมการณ์ที่จะเป็นเครื่องชี้นำ

     ประการที่สี่  นักการเมืองที่ดีจะต้องมีประสาทสัมผัสทางการเมือง (Political Sense) ความสามารถในการเข้าใจนัยสำคัญทางการเมืองอันเกิดจากเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลในทางลบหรือทางบวกนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะการอ่านสถานการณ์ ทางการเมืองที่ผิดพลาดอาจจะนำไปสู่ความสูญเสียอย่างมหาศาล กระบวนการทางการเมืองที่เริ่มต้น จากคนเพียงคนเดียวที่ดูเหมือนไม่สำคัญเนื่องจากการอ่านสถานการณ์ที่ผิดพลาด อาจจะนำไปสู่ การขยายขอบข่ายอย่างกว้างขวาง เป็นผลร้ายทางการเมืองได้  ดังปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้
     
     ประการที่ห้า  นักการเมืองที่ดีคือนักการเมืองที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอารมณ์ทางการเมือง (Political Mood) ของสังคม  การขาดความเข้าใจอารมณ์ทางการเมืองของสังคม จะนำไปสู่ความ เสียหายทางการเมืองอย่างหนักอารมณ์ทางการเมือง สามารถจะกระตุ้นปลุกเร้าให้เกิด ขึ้นโดยขบวนการทางการเมือง ความไม่เข้าใจอารมณ์ทางการเมืองย่อมบ่งชี้ถึงการขาดประสาท สัมผัสทางการเมือง เพราะทั้งสองส่วนนี้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างแน่นแฟ้น
     
     คุณสมบัติทั้งห้าประการดังกล่าวมานั้นเป็นคุณสมบัติของนักการเมืองที่ดีและประสบความสำเร็ว ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับรัฐบุรุษด้วย เพราะการเป็นรัฐบุรุษจะต้องเริ่มต้นจากการ เป็นนักการเมืองที่ดี  นักการเมืองที่ดีและประสบความสำเร็จไม่จำกัด เฉพาะผู้ที่สามารถชนะ การเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงเท่านั้น แต่ต้องมีคุณสมบัติพิเศษอันเป็นที่ยอมรับ ของ คนทั่วไปว่าเป็นบุคคลที่มีความรู้  ความสามารถ  เสียสละ  ซื่อสัตย์  สุจริต  มีความเป็นผู้นำ ที่สง่างามน่าเชื่อถือ  เปี่ยมด้วยบารมี  มีอุดมการณ์และจริยธรรมที่ดีจนเป็นแบบอย่างสำหรับคนทั่วไปได้
(ศ.ดร.ลิขิต  ธีรเวคิน  ราชบัณฑิต)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น