สงครามครูเสดเป็นสงครามระหว่างพวกคริสเตียนในยุโรปกับพวกมุสลิมที่ยึดครองนครเยรูซาเล็มในปาเลสไตน์
ซึ่งเป็นดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาคริสต์
พวกคริสเตียนยกทัพไปโจมตีดินแดนของพวกมุสลิม โดยอ้างว่าเพื่อปลดปล่อยนครเยรูซาเลม
สงครามครูเสดดำเนินอยู่ในช่วงเวลาเกือบ 200 ปี
และก่อให้เกิดผลกระทบต่อพัฒนาการของยุโรปทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
สาเหตุของสงครามครูเสด
ชาวยุโรปยกทัพไปทำสงครามครูเสดรวม 6 ครั้ง
เหตุผลโดยรวมของการทำสงครามคือปลดปล่อยนครเยรูซาเลมอันศักดิ์สิทธิ์จากการควบคุมของพวกมุสลิม
แต่เมื่อวิเคราะห์จากเหตุการณ์ต่างๆ แล้ว
พบว่าการสนับสนุนสงครามครูเสดของชาวยุโรปเกิดจากสาเหตุสำคัญ คือ
ความศรัทธาต่อศาสนาคริสต์ เหตุผลทางการเมือง และการแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
ความศรัทธาต่อศาสนาคริสต์
เป็นเหตุผลสำคัญที่ผลักดันให้ชาวยุโรปเดินทางไปทำสงครามครูเสด
เนื่องจากคริสต์ศตวรรษที่ 11 ชาวคริสต์จากยุโรปที่เดินทางไปแสวงบุญยังนครเยรูซาเลมถูกพวกเติร์กที่ยึดครองปาเลสไตน์อยู่ขัดขวางและบางคนถูกสังหาร
สำนักวาติกันซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของศาสนาคริสต์ได้เรียกร้องให้พวกคริสเตียนไปร่วมรบเพื่อชิงนครเยรูซาเลมจากพวกมุสลิม
นักรบที่ร่วมในสงครามจะเย็บเครื่องหมายกางเขนที่ทำด้วยผ้าติดไว้บนเสื้อผ้าของตน
จึงถูกเรียกว่า “crusader” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้ที่ติดเครื่องหมายกางเขน” และเป็นที่มาของชื่อสงครามครูเสด
ใน ค.ศ. 1095 สันตะปาปาเออร์แบบที่ 2
(Urban II) เรียกประชุมผู้นำทางศาสนาและขุนนางที่มีอำนาจในเขตต่างๆ
ของฝรั่งเศสเพื่อให้ยุติการสู้รบแย่งชิงอำนาจกัน และช่วยกันปกป้องศาสนาคริสต์
ในปีถัดมาสันตะปาปาทรงนำทัพในสงครามครูเสดครั้งที่ 1 ผู้เข้าร่วมสงครามซึ่งมีจำนวนมากมาจากดินแดนต่างๆ
ทั่วยุโรป เพราะเชื่อว่าการไปรบเพื่อศาสนาจะเป็นการไถ่บาปที่ยิ่งใหญ่
ผู้ที่เสียชีวิตในสงครามครูเสดจะได้ขึ้นสวรรค์
สันตะปาปาทรงให้สัญญาว่าทรัพย์สินและครอบครัวของนักรบครูเสดจะได้รับความคุ้มครองจากศาสนจักร
นักรบที่มีหนี้สินจะได้รับการยกเว้นหนี้และนักโทษคดีอาญาที่ไปร่วมรบก็จะได้รับอภัยโทษด้วย
นักรบครูเสดได้รับชัยชนะในสงครมครูเสดครั้งที่ 1 และสามารถยึดนครเยรูซาเลม
จากนั้นก็สร้างเขตปกครองของพวกคริสเตียนในปาเลสไตน์ขึ้นหลายแห่ง
อย่างไรก็ตามหลังจากนักรบครูเสดเลิกทัพกลับยุโรปแล้ว
พวกมุสลิมก็กลับมารุกรานนครเยรูซาเลมอีกและยึดเมืองของพวกคริสเตียนในปาเลสไตน์บางเมือง
ทำให้สงครามครูเสดยืดเยื้อต่อไป
สำนักวาติกันได้ขอร้องให้กษัตริย์และผู้ครองนครรัฐในยุโรปยกทัพในสงครามครูเสดครั้งที่ 2
(ค.ศ. 1147
– 1149) และครั้งที่ 3 (ค.ศ.1189 – 1192) แต่นักรบครูเสดก็ไม่สามารถปราบปรามพวกมุสลิมได้
ดังนั้นสันตะปาปาอินโนเชนต์ที่ 3 (Innocent III) จึงชักชวนพวกอัศวินและขุนนางในฝรั่งเศสไปรบในสงครามครูเสดครั้งที่ 4
(ค.ศ. 1202
– 1204) แต่นักรบครูเสดกลับไปยึดครองกรุงคอนสแตนติโนเปิล หลังจากนั้นสำนักวาติกันก็ยัคงสนับสนุนให้นักรบครูเสดไปรบกับพวกมุสลิมอีกแต่ในที่สุดเมือเอเคอร์
(Acre) ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของพวกคริสเตียนในปาเลสไตน์แห่งสุดท้ายถูกพวกมุสลิมยึดครองใน
ค.ศ. 1291 ทำให้สงครมครูเสดยุติลง
เหตุผลทางการเมือง
ในสมัยกลาง
สถาบันศาสนามีอิทธิพลทางการเมืองเหนือกษัตริย์และประมุขของดินแดนต่างๆ
จะเห็นได้ว่าสันตะปาปาเป็นผู้ประกอบพิธีถวายมงกุฎแก่กษัตริย์และจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
เพื่อแสดงถึงการมอบอำนาจทางโลกให้แก่กษัตริย์หรือจักรพรรดิในนามของพระเจ้า
การชักนำให้กษัตริย์และประมุขของดินแดนต่างๆ
ส่งกองทัพไปรบกับพวกมุสลิมในสงครามครูเสดทั้งหลาย
แสดงถึงอิทธิพลทางการเมืองของสันตะปาปาที่มีเหนือกษัตริย์และประมุขของดินแดนต่างๆ
ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นว่าการที่กษัตริย์และประมุขเหล่านั้นไปร่วมรบใน
สงครามครูเสดก็มิได้เกิดจากศรัทธาต่อศาสนาคริสต์เพียงประการเดียว
แต่ยังเป็นการตอบสนองนโยบายของสันตะปาปาเพื่อความมั่นคงทางการเมืองของตนด้วย
การแสวงหาประโยชน์ทางศรษฐกิจ
สงครามครูเสดได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะพ่อค้าในแหลมอิตาลีซึ่งได้รับผลประโยชน์จากการขนส่งทหารและเสบียงอาหารให้กับกองทัพครูเสดไปยังปาเลสไตน์
ขณะเดียวกันพ่อค้าเหล่านั้นก็แสวงหาประโยชน์อื่นจากนักรบครูเสดด้วย
ดังกรณีที่พ่อค้า
เมืองเวนิส (Venice) เสนอจะลดค่าขนส่งที่มีมูลค่าสูงให้กับกองทัพครูเสดหากยินดียกทัพไปตีเมืองซารา
(Zare) ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญบนฝั่งทะเลเอเดรียติก (Adriatic Sea) และเป็นคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญของเวนิส
สงครามครูเสดส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของยุโรป
ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ดังนี้
ด้านการเมือง สงครามครูเสดส่งผลกระทบทางการเมืองอย่างกว้างขวาง
กล่าวคือ
ประการแรก สงครามครูเสดทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปและโลกมุสลิมเสื่อมลงเนื่องจากทั้งสองฝ่ายต่างมีอคติต่อกัน
ประการที่สอง การที่นักรบครูเสดบุกยึดกรุงคอนสแตนติโนเปิลในสงครามครูเสดครั้งที่ 4 ได้ทำให้จักรวรรดิไบแซนไทน์อ่อนแออย่างมาก
กระทั่งไม่อาจต้านทานการรุกรานของพวกออตโตมันเติร์กและล่มสลายไปในที่สุด
ประการที่สาม สงครามครูเสดมีผลให้ระบบฟิวดัลของยุโรปเสื่อมลง
เนื่องจากขุนนางและอัศวินซึ่งปกครองดูแลแมเนอร์ของตนในเขตต่างๆ
ต้องไปร่วมรบในสงครามครูเสด ทำให้กษัตริย์มีอำนาจปกครองดินแดนต่างๆ เพิ่มขึ้น
ซึ่งรวมถึงการจัดเก็บภาษีจากราษฎรและการเกณฑ์ทัพ
กระทั่งสามารถพัฒนารัฐชาติได้ในเวลาต่อมา
ด้านเศรษฐกิจ สงครามครูเสดส่งผลกระทบที่สำคัญทางเศรษฐกิจ คือ
ประการแรก หลังสงครามครูเสดยุติลงแล้ว
พ่อค้ายุโรปโดยเฉพาะในแหลมอิตาลีประสบปัญหาการเดินเรือในเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
เพราะเมืองท่าบางแห่งอยู่ใต้อำนาจของพวกมุสลิมซึ่งมีคติต่อชาวยุโรป
นอกจากนี้พ่อค้ายุโรปยังประสบปัญหาการขยายการค้ากับดินแดนตะวันออกตามเส้นทางบกซึ่งต้องผ่านดินแดนของพวกมุสลิม
ดังนั้นชาวยุโรปจึงต้องพัฒนาเส้นทางทะเล โดยเฉพาะการเดินเรืออ้อมแอฟริกาไปยังเอเชียที่ประสบความสำเร็จในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติในเวลาต่อมา
ประการที่สอง การติดต่อกับตะวันออกกลางในช่วงสงครามครูเสดทำให้ชาวยุโรปรู้จักบริโภคสินค้าและผลิตภัณฑ์จากตะวันออกกลาง
เช่น ข้าว น้ำตาล มะนาว ผลแอปริคอต และผ้าป่านมัสลิน
ซึ่งกลายเป็นสินค้าที่ยุโรปนำเข้าเป็นประจำ
ด้านสังคม สงครามครูเสดทำให้เกิดผลกระทบทางสังคม คือ
ประการแรก สงครามครูเสดได้เปิดโลกทัศน์ของชาวยุโรปเกี่ยวกับ “โลกตะวันออก” โดยเฉพาะคาวมก้าวหน้าและเทคโนโลยีของชาวตะวันออก
เช่น การใช้ดินปืนในการทำสงคราม
ต่อมาชาวยุโรปได้นำความรู้นี้ไปพัฒนาเป็นอาวุธปืนและสามารถทำสงครามชนะชาวเอเชีย
ทำให้ยุโรปกลายเป็นมหาอำนาจของโลก
ประการที่สอง นักรบครูเสดมาจากดินแดนต่างๆ
ในสังคมของระบบฟิวดัลที่ไม่มีโอกาสรู้จักโลกภายนอกมากนัก
เมื่อได้พบปะเพื่อนนักรบอื่นๆ จึงได้แลกเปลี่ยนทัศนคติและองค์ความรู้ต่อกัน
ทำให้เกิดการหล่อหลอมทางด้านวัฒนธรรมและความคิดของชาวยุโรป โดยเฉพาะในการแสดงออกทางความคิดการวิพากษ์วิจารณ์
และการเปิดรับแนวคิดใหม่
ซึ่งรากฐานของขบวนการมนุษย์นิยมที่เติบโตในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ
และยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุดมการณ์เสรีนิยมของยุโรปสมัยใหม่
ประการที่สาม สงครามครูเสดเปิดโอกาสให้สตรีได้พัฒนาสถานะของผู้นำในสังคมและชุมชน
เนื่องจากสามีต้องไปรบในสงคราม
ภรรยาจึงต้องบริหารจัดการและดูแลทรัพย์สินรวมทั้งข้าทาสบริวารและผลประโยชน์ต่างๆ
ส่งผลให้สังคมยอมรับศักยภาพและความสามารถของสตรีซึ่งเป็นพลังสำคัญส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคม
ที่มา : http://metricsyst.wordpress.com สงครามครูเสด
(The Crusades, ค.ศ.1096-1291)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น